มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
กำเนิดโครงการศิลปาชีพ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างแท้จริง ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของประชาชนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คือ ชาวสวน ชาวไร่ และชาวนา ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หลากหลาย เช่น ปริมาณผลิตผลไม่คงที่ ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชรบกวน บางปีต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง บางครั้งทำการเพาะปลูกไม่ได้ ผลผลิตราคาตกต่ำ ฯลฯ
ชาวไทยในชนบทส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพด้านเกษตรกรรมจึงมีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อมีความทุกข์ยากจึงต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ บางคนต้องขายที่ดินทำกิน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก จึงมีพระราชดำริที่จะให้ราษฎรมีอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอเพียงแก่การยังชีพในภาวะปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงสังเกตเห็นผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านหลากหลายประเภท ที่ราษฎรในหมู่บ้านชนบทภาคต่างๆ ทำขึ้นเพื่อไว้ใช้สอยตามความจำเป็นของครอบครัว เป็นงานฝีมือพื้นบ้านที่สืบทอดงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีมาช้านานแล้ว โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะงานศิลปะบางอย่างใกล้จะเสื่อมสูญ จึงมีพระราชดำริจะอนุรักษ์ และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค ในเวลาที่พระองค์สมเด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการช่างใดๆ เข้าเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
โครงการส่งเสริมหัตถกรรมที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอำนวยการอยู่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อโครงการเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล ข้าราชบริพาร และผู้มีจิตศรัทธาจึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงใช้จ่ายในกิจการนี้ และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชทานว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” พระราชทานทุนเริ่มแรก และทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง
ผู้ที่คิดมงคลนามของมูลนิธิฯ ถวาย คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และ หม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ รองราชเลขาธิการ เป็นผู้คิดชื่อเป็นภาษาอังกฤษถวายว่า “THE FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF SUPPLEMENTARY OCCUPATIONS AND RELATED TECHNIQUES UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HER MAJESTY THE QUEEN” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “The SUPPORT Foundation”
ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณประโยชน์ของมูลนิธิฯ จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐจัดตั้งกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
วัตถุประสงค์สำคัญ ของการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
๑. เพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือในเวลาว่างจากฤดูเพาะปลูก ให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน โดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ อันอาจก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับได้ว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนชาวไทยภูเขาผู้มีอาชีพปลูกฝิ่นก็ทรงส่งเสริมให้หันไปประกอบงานฝีมือที่ชาวไทยภูเขามีความชำนาญอยู่แล้ว คือ การเป็นช่างเงินช่างทอง
๒. เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การ จักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและทอง การทำคร่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ ใช้เวลา และใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่จะสนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในบรมราชินูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่า สมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ยึดการทำงานศิลปาชีพ เป็นอาชีพหลักกันเป็นจำนวนมาก มิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาด้วยพระอุตสาวิริยะ เพื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เช่นมูลนิธิอื่นไม่ จึงเห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งจัดทำตราสารขึ้นใหม่ เพื่อสอดคล้องแก่การดำเนินของมูลนิธิฯ ในขณะนั้น พร้อมทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมคณะกรรมการเนื่องจากกรรมการบางท่านสิ้นพระชนม์และถึงอนิจกรรม และบางท่านก็ไม่สามารถมาปฏิบัติภารกิจได้
คำว่า “ศิลปาชีพ”
คำว่า “ศิลาปาชีพ” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า อาชีพด้านศิลปะ เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ประกอบเป็นชื่อของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพหัตถกรรมเสริมอาชีพเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลัก
คำว่า “ศิลาปาชีพ” ยังเป็นคำสั้นๆ ที่ใช้เรียกชื่อสมาชิก ผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย
คำว่า “ศิลาปาชีพ” นี้ ผู้อื่นจะนำไปใช้มิได้ เช่น ไม่สามารถนำไปเรียกผลิตภัณฑ์ใดๆ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ทั้งๆ ที่มิได้เป็นผลิตภัณพ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น
วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
๑. เพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือในเวลาว่างจากฤดูเพาะปลูก ให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน โดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ อันอาจก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับได้ว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนชาวไทยภูเขาผู้มีอาชีพปลูกฝิ่นก็ทรงส่งเสริมให้หันไปประกอบงานฝีมือที่ชาวไทยภูเขามีความชำนาญอยู่แล้ว คือ การเป็นช่างเงินช่างทอง
๒. เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การจักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและทอง การทำคร่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ต้องใช้ฝีมือ ใช้เวลา และใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่จะสนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในบรมราชินูปถัมภ์พิจารณาเห็นว่า สมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ยึดการทำงานศิลปาชีพ เป็นอาชีพหลักกันเป็นจำนวนมาก มิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาด้วยพระอุตสาวิริยะ เพื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เช่นมูลนิธิอื่นไม่ จึงเห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งจัดทำตราสารขึ้นใหม่ เพื่อสอดคล้องแก่การดำเนินของมูลนิธิฯ ในขณะนั้น พร้อมทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมคณะกรรมการเนื่องจากกรรมการบางท่านสิ้นพระชนม์และถึงอนิจกรรม และบางท่านก็ไม่สามารถมาปฏิบัติภารกิจได้
ตราสัญลักษณ์มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อแรกก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ทรงผูกคำว่า “ศิลปาชีพ” ขึ้นถวาย จากคำว่า “ศิลปะ” และ “อาชีพ” นับเป็นมงคลนามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และกิจการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เจริญเติบโตเป็นที่พึ่งพาของสมาชิก ชาวไร่ชาวนา ตลอดจนเยาวชนผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา จำนวนนับแสน
ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นผลงานออกแบบของ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกผู้ชำนาญการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ประเพณี สถาปัตยกรรมสากล และการออกแบบผูกลาย หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ รับราชการที่กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร และเป็นอาจารย์พิเศษด้านสถาปัตยกรรมไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประกอบด้วย
๑. ภาพลายเส้นพระมหามงกุฎ ประดิษฐานอยู่เหนือสุด
๒. ลายเส้นดอกบัวและฝ่ามือขวา เปรียบได้กับการอุทิศพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๓. ภาพใบโพธิ์ล้อมกรอบ คือ ความร่มเย็นแผ่ปกพสกนิกรทั่วแผ่นดิน
๔. ด้านล่างมีคำว่า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (THE SUPPORT FOUNDATION OF HER MAJESTY QUEEN OF THAILAND)