การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

SACICT รวบรวมผลงานหัตถกรรมของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์กว่า 20 กลุ่ม ในงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี”

SACICT รวบรวมผลงานหัตถกรรมของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์กว่า 20 กลุ่ม
ในงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี”

SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เตรียมจัดงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี” เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พร้อมรวบรวมผลงานหัตถกรรมของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์กว่า 20 กลุ่มในประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับ งานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมของไทย ได้กำหนดให้มีการจัดงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี” โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พร้อมเผยแพร่พระราชกรณียกิจต่างๆ ของทั้งสองพระองค์ที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล จึงพระราชทานอาชีพเสริมด้านศิลปหัตถกรรมให้แก่กลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ ก่อเกิดเป็นรายได้ ที่เพิ่มพูนขึ้นความเป็นอยู่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ
          นางอัมพวันฯ กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยมีกลุ่มชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์มากมายหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่กระจัดกระจายในหลายจังหวัดในแทบทุกภูมิภาค เช่น กะเหรี่ยง ม้ง เย้า ลีซู ลาหู่ อาข่า ลั๊วะ และ “กลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่ราบ” เช่น มอญ ไทยลื้อ ไทยทรงดำ ไทยใหญ่ ไทยเขิน ไทยยวน ภูไท ไทพวน ลาวครั่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีวิตอยู่กับทะเล ประกอบอาชีพด้านประมงเป็นหลักหรือที่รู้จักกันว่า “ชาวเล” เช่น มอแกน อูรักละโว้ย ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามีชีวิตผูกพันอยู่กับป่า ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า เช่น มลาบรี (ตองเหลือง) ซาไก ทำให้วิถีชีวิตและจารีตประเพณีของกลุ่มชนเผ่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความหลากหลาย มีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาของตนเองทั้งอาจมีความคล้ายคลึง หรือแตกต่างกันไปโดยสภาพเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีวัฒนธรรม และการยึดถือความเชื่อตามประเพณีของตน แต่ก็จะมีความสามารถพิเศษเฉพาะที่ติดตัวที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะด้านศิลปหัตกรรม และงานช่างฝีมือ เช่น การทอผ้า เย็บผ้า ปักผ้า การตีเหล็ก เป็นต้น

 

ภายในงานมีกิจกรรม 3 ส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. ส่วนนิทรรศการ
          1) นิทรรศการแสดงถึงพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร
เทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรกลุ่มชนเผ่า (ชาวไทภูเขา) และชาติพันธุ์ในภูมิภาคต่างๆ ในพื้นที่สูง และชนบททุรกันดาร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ประชาชนผู้ยากไร้
          2) จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ ทักษะฝีมือในการเย็บ ปัก ถักทอของกลุ่มชนเผ่า และชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ลีซอ อาข่า เย้า ลั๊วะ / ไทพวน ผู้ไท ไทดำ ไทยวน ลาวครั่ง ลาวเวียง ไทลื้อ เป็นต้น
          3) การจัดแสดงผลงานจากการพัฒนา ปรับประยุกต์จากเอกลักษณ์ของชนเผ่าหรือชาติพันธุ์เชิงสร้างสรรค์ โดยกลุ่มนักออกแบบ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไสต์ และใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
2. ส่วนกิจกรรม
          1) กิจกรรมการสาธิตการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนเอกลักษณ์ และความมหัศจรรย์ในทักษะฝีมือของแต่ละชนเผ่า เช่น การปักผ้า – เย็บผ้าแบบชนเผ่าม้ง / ชนเผ่ามูเซอ / ชนเผ่าเย้า / ชนเผ่าอาข่า การเขียนเทียนลายผ้าแบบชนเผ่าม้ง การปักประดับลูกเดือย–ไหมพรมแบบชนเผ่ากะเหรี่ยง การปักผ้าแบบเอกลักษณ์ไททรงดำ การสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าไทยวน หรือผ้าแพรวาผู้ไท เป็นต้น
          2) กิจกรรมที่ให้ผู้มาชมงานมีส่วนร่วมลงมือทำได้จริงด้วยตนเอง (workshop) เพื่อร่วมสนุก ในกิจกรรม และเห็นคุณค่าในผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของตนเอง
          3) กิจกรรมการเผยแพร่จารีต วัฒนธรรม ของชนเผ่าและชาติพันธุ์ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม คติความเชื่อ ประเพณีปฏิบัติ ศิลปะการแสดงอันเป็นจารีตวัฒนธรรมอันดีงาม ตลอดจนเอกลักษณ์เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์เพื่อเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่สาธารณชน
3. กิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายผลงานศิลปหัตถกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเอกลักษณ์ชนเผ่า
และชาติพันธุ์ กว่า 100 คูหา เช่น ผ้าทอ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลงานที่สร้างสรรค์เครื่องประดับ เครื่องตกแต่งร่างกาย เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงาน “ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี” ได้ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ น. และในส่วนของนิทรรศการเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1289 , www.sacict.or.th , www.facebook.com/sacict