SACICT เผยคุณค่าความเป็นไทยใน 5 ด้าน สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพ ช่วยชุมชนอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน มุ่งผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล
SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้วิสัยทัศน์สื่อสารคุณค่าความเป็นไทยใน 5 มิติ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน และผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่โลกยุคใหม่ โดยสร้างมาตรฐานความเป็นเลิศ ส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้หัตถกรรมไทย เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีหน้าที่ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ในทุกมิติของการดำเนินงาน นำมาสู่ความภาคภูมิใจใน “คุณค่าความเป็นไทย” ที่สั่งสมและสืบทอด ทักษะเชิงช่าง ภูมิปัญญาผ่านงานศิลปหัตถกรรมตามแนวทางศิลปาชีพ รวมถึงงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่น ผ่านทาง ครูศิลปาชีพ สมาชิกศิลปาชีพ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิกผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมในแขนงต่างๆ ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยจินตนาการผ่านมุมมองอันไร้ขีดจำกัด ย่อมก่อเกิดเป็นผลงานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าความเป็นไทย พร้อมมาตรฐานชั้นเลิศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย SACICT ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาด้านการตลาดอย่างบูรณาการเพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจใน “คุณค่าความเป็นไทย” SACICT จึงมีหน้าที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศ และในเวทีโลกได้สัมผัสและซาบซึ้งในคุณค่าความเป็นไทยนี้ เพื่ออยู่คู่สังคมไทยตลอดไปอย่างภาคภูมิ
“SACICT คุณค่าความเป็นไทย” จึงเป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้การสื่อสารคุณค่าความเป็นไทยไปสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลกผ่านงานหัตถศิลป์ไทย ดังนี้
คุณค่าในงานศิลปาชีพ คุณค่าของการอนุรักษ์สืบสานพระราชปณิธานงานด้านศิลปาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพและรายได้จากการทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อช่วยกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดความมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ ในการเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้งานศิลปาชีพบนฐานข้อมูล Archive
คุณค่าในความเป็นไทยที่ภาคภูมิ คุณค่าที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมล้วนแล้วแต่มาจากการสั่งสมภูมิปัญญาและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมายาวนาน เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว นำมาสู่ค่านิยมและการสร้างกระแสการใช้ของไทยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยเกิดความรู้สึกอยากใช้อยากสวมใส่ และสนับสนุนสินค้าหัตถกรรมไทย
คุณค่าของมาตรฐานเป็นเลิศสู่เวทีโลก คุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานที่ดี งดงาม และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานว่าจำต้องรักษามาตรฐานของตนเองให้คงที่สม่ำเสมอ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ และต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ไปถึงจุดที่นานาชาติยอมรับและสร้างตลาดในต่างประเทศได้
คุณค่าแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยีสร้างสรรค์ คุณค่าในการนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด ให้กลายเป็นผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ซึ่งก้าวทันโลก ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา พัฒนาวงการหัตถศิลป์ไทยให้ก้าวไกลสู่สากล
คุณค่าของสังคมไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน คุณค่าที่งานหัตถศิลป์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีความสุข ผู้บริโภคสามารถแบ่งปันช่วยเหลือสนับสนุนชาวบ้านจากการอุดหนุนซื้อใช้ ขณะเดียวกันชุมชนมีความเข้มแข็งจากการพึ่งพาตนเอง ประกอบสัมมาอาชีพจากงานศิลปหัตถกรรม ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ มีสัมพันธภาพภายในครอบครัวที่เหนียวแน่น ส่งผลให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ SACICT ได้ดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์ที่มีการบูรณาการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งในด้านความมั่นคงในการเสริมสร้างพลังแห่งความจงรักภักดี อันพึงมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักซึ่งเป็นหัวใจของคนไทยทั้งชาติ โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ 4 มิติคือ การสืบสานคุณค่าด้านงานศิลปาชีพ , ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่โอกาสทางการตลาด , การตลาดศิลปาชีพเชิงบูรณาการ และ การยกระดับองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
อำนวยการ SACICT กล่าวถึง แผนการดำเนินงานเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมงานศิลปหัตถกรรมไทย พบว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในช่วงไตรมาสแรกลดลงถึง ร้อยละ 66.79 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศเองก็ลดลงเนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตงานหัตถกรรมทั้งที่เป็นชาวบ้านและชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการ ดังนั้นเพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน SACICT จึงได้เร่งประสานพลังกับชุมชนต่างๆ นำจุดแข็งที่มีทั้งด้านองค์ความรู้ภูมิปัญญางานหัตถกรรม วัตถุดิบในท้องถิ่น มาผลิตสินค้าหน้ากากทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในสถานการณ์โควิด สร้างสรรค์จนเกิดเป็นโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” โดยนำผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมาเป็นวัตถุดิบออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าพื้นถิ่นในชุมชนหัตถกรรมที่มีครูฯ,ทายาทฯ หรือสมาชิกของ SACICT เป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดำเนินการไปแล้วในหลายชุมชน อาทิ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ , ชุมชนบ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น , ชุมชนหัตถกรรมบ้านดอนยายเหม จ.สุพรรณบุรี , ดาหลาบาติก จ.กระบี่ และ ชุมชนบาราโหม จ.ปัตตานี เป็นต้น โดยขณะนี้ได้เร่งขยายไปยังชุมชนหัตถกรรมทั่วประเทศ โครงการนี้สามารถสร้างคุณค่าทั้งมิติด้านเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน มิติด้านวัฒนธรรมที่เกิดการอนุรักษ์สืบทอดงานหัตถกรรมไทยในชุมชน และมิติด้านสังคมคือกลุ่มแรงงานในเมืองใหญ่และต่างประเทศกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยแรงงานหนุ่มสาว กลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กเยาวชน และคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ เห็นถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ไทยว่า สร้างรายได้ที่มั่นคงช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตในยามยากและสามารถประกอบเป็นอาชีพอย่างยั่งยืนได้
นอกจากนี้ SACICT ยังมีแผนรองรับภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และสร้างปรากฏการณ์หัตถศิลป์ไทยในโลกยุคใหม่ อาทิ การจัดงานหัตถกรรมระดับประเทศเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตในช่วงปลายปีนี้ การสร้างความนิยมผ้าไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านการจัดการประกวดระดับนานาชาติ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ ผลักดันสินค้า GI เรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรต่างๆ รวมทั้งการหาตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ตลาดในกลุ่มนักสะสม เปลี่ยนงานศิลปหัตถกรรมทั่วไปให้เป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หน่วยธุรกิจของชุมชนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับกำลังซื้อภายในประเทศ มีบทบาทและความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีการพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตและการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศหยุดชะงักลง ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในความปกติใหม่นี้เอื้อให้ตลาดของงานศิลปหัตถกรรมเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้
1. ผู้คนหันมาทำงานหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากตอนช่วงที่อยู่บ้านในสถานการณ์โควิด มีเวลาได้ทดลองเรียนรู้การทำงานคราฟต์ต่างๆ ประกอบกับภาวะของความเครียด กังวลใจจากการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ผู้คนพบว่างานศิลปหัตถกรรมสามารถช่วยบำบัดความเครียด ความเหงา และช่วยผ่อนคลายจิตใจได้ ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อเนื่องจนเป็นวิถีใหม่
2. การเพิ่มทักษะหัตถกรรมแก่ผู้ที่สนใจทำได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น โดยการเพิ่ม”คราฟต์สกิล” ผ่านเทคโนโลยีเรียนรู้วิธีทำงานคราฟต์ผ่าน E-Learning เกิดการเรียนรู้หัตถกรรมไทยได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน SACICT Application เพื่อก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล
3. การเชื่อมโยงตลาดหัตถกรรมสู่ตลาดโลกได้อย่างไร้รอยต่อ SACICT ได้จับมือกับพันธมิตรแสวงหาตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานด้านการตลาดเชิงรุก ผ่านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ่าน E-Commerce Platform ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต Logistic และจำหน่ายซื้อขาย Distribute ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย
4. การนำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มทักษะและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้เป็น Smart Crafts SMEs หรือผู้ประกอบการงานคราฟต์อัจฉริยะ ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานหัตถศิลป์ เพื่อทุ่นแรง ลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
5. การจับมือพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาวงการหัตถกรรมไทย เช่น การเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผ้าไทย โดยการจับมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ในการพัฒนาผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ โดยการเคลือบนาโน เพื่อช่วยไม่ให้ยับง่าย สามารถซักรีดธรรมดาได้ไม่ต้องส่งซักแห้ง มีกลิ่นหอมเมื่อตากแดด ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติของผ้าไหมสามารถใช้งานได้นานและง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับและพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล