การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

จักสานกระจูด

กระจูด เป็นพันธุ์ไม้จำพวก กก ลักษณะลำต้นกลม สีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1 - 2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่น กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่าโพระหรือป่าพรุมีน้ำขังตลอดปี มีถิ่นกำเนิดจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกา สุมาตรา แหลมมลายู หมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู แหลมอินโดจีนตอนริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงทวีปออสเตรเลีย ริมฝั่งตะวันออก มีคุณสมบัติที่มีความเหนียวยืดหยุ่น มีความมันวาว ทนทาน ไม่ขาดง่ายแตกต่างจากวัสดุอื่น เมื่อนำมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รูปลักษณ์ที่สวยสะดุดตา ยิ่งนำมาย้อมสีเส้นกระจูดก็ยิ่งเพิ่มมิติให้ภาพลักษณ์ของงานสานกระจูดมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ลวดลายการสานกระจูด แบ่งเป็นลายดั้งเดิมและลายประยุกต์ ลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายขัดหนึ่ง ลายขัดสองและลายขัดสาม สามารถปรับประยุกต์ไปเป็นลายในขั้นที่สูง เช่น ลายตอกคู่ ลายขัดตาหมากรุก ลายดอกพิกุล เป็นต้น ลายขัดสอง หรือลายสอง เป็นลายที่นิยมนำมาทอเป็นลายเสื่อมากที่สุด เพราะได้ความแข็งแรงทนทานของผืนเสื่อ และสวยงามกว่า สานได้ง่าย สามารถดัดแปลงเป็นลายอื่นได้อีกหลายลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดาวกระจาย เป็นต้น ซึ่งลวดลายทั้งสามนี้ถือเป็นลายโบราณที่ชุมชนทางภาคใต้

ปัจจุบันการสานกระจูดมีการพัฒนาทั้งในด้านลวดลายและสีสัน ตลอดจนการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น อาทิ กระเป๋าสะพาย ที่ใส่โน๊ตบุ๊คหรือ ไอแพด กระเป๋าถือ รองเท้าแตะ หรือของตกแต่งบ้าน อาทิ ที่รองจาน รองแก้ว ปลอกคลุมเก้าอี้ เป็นต้น