การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

ผ้าฝ้ายศิลปาชีพ

“ผ้าฝ้ายศิลปาชีพ” เป็นผลผลิตที่เกิดจากฝีมือของสมาชิกศิลปาชีพ ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกิดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมให้ราษฎรศิลปาชีพในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำการ “ทอผ้าฝ้าย” ตามแบบฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่โบราณ รวมทั้งเพื่อเป็นอาชีพเสริมจากอาชีพหลัก หลังการเก็บเกี่ยวจากอาชีพการเกษตร เป็นการเพิ่มรายได้ในการเลี้ยงชีพ

 

ผ้าฝ้าย ที่ราษฎรทำการทอมาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รับซื้อผ้าฝ้ายจากราษฎรไว้ทั้งหมด และผ้าฝ้ายเหล่านั้นจะถูกนำมาจัดเก็บอยู่ ในคลังจัดเก็บผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ  ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่การระบายผ้าเพื่อนำออกไปใช้ประโยชน์ยังมีน้อยกว่าปริมาณผ้าที่จัดส่งมาจากราษฎรพื้นที่ต่างๆ ที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมากในทุกๆ เดือน จึงทำให้จำนวนผ้าฝ้ายที่ จัดเก็บอยู่ในคลังฯ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นๆ 

ลักษณะของผ้าฝ้าย ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ นั้นอาจจะมีคุณภาพที่มีความแตกต่างกันตามแต่ละแหล่งที่มาของแต่ละภูมิภาค คุณภาพผ้าไม่เหมือนผ้าฝ้ายที่ทอด้วยเครื่องจักรในระดับอุตสาหกรรม หรือผ้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากเป็นผ้าที่ทอด้วยมือทั้งสิ้น และมีกรรมวิธีการทอที่มาจากพื้นฐานดั้งเดิมของราษฎรศิลปาชีพ ผู้ทำการทอมีทุกระดับช่วงอายุ ตั้งแต่คนในวัยสาว ไปจนถึงคนแก่ในวัยที่มีอายุมากกว่าเจ็ดสิบปี ตลอดรวมไปจนถึงชนชาวไทยภูเขา ที่อยู่บนดอยสูงถิ่นทุรกันดาล การทอก็มีทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นฝึกหัด ไปจนถึงผู้ที่มีฝีมือชั้นเยี่ยมที่สามารถทอได้อย่างละเอียด  ดังนั้นคุณภาพผ้าฝ้ายศิลปาชีพจึงมีความแตกต่างกัน และไม่สามารถที่จะนำไปเปรียบเทียบกับผ้าจากโรงงานอุตสาหกรรมได้ 

 

ปัจจุบันผ้าฝ้าย ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ จะมีการนำออกมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปในงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพตามวาระโอกาสต่างๆ ที่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนแจ้งเชิญให้ ออกร้าน แต่ทั้งนี้ จำนวนผ้าฝ้ายที่ส่งมาจากราษฎรในทั่วทุกภูมิภาค และนำมาจัดเก็บในคลังจัดเก็บผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ณ ศูนย์ศิลปาชีพ เกาะเกิด ก็ยังมีจำนวนมากกว่าผ้าฝ้ายที่จำหน่ายได้