SACICT ชู Sustainable Crafts ผ่านชุมชนหัตถกรรมรักษ์โลก หวังผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการผลิตงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชาวบ้านผลิตหน้ากากจากหัวใจชุมชน ได้รับกระแสตอบรับดี SACICT เตรียมต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ระดับสากล
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านที่ผลิตงานหัตถกรรมหลายชีวิตต้องประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สูญเสียงานและรายได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีหน้าที่ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น SACICT จึงได้เข้าไปส่งเสริมให้ครูช่างศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้นำชุมชนในการให้ชาวบ้านเหล่านั้นได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มาเป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิตกลับมาสดใสได้อีกครั้ง ผ่านโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” จึงได้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าแก่ชาวบ้าน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ใช้ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นวัตถุดิบออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าพื้นถิ่นของชุมชน โดยใช้แรงงานฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมและประชาชนโดยรอบ
ปัจจุบัน SACICT ได้นำร่องโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ไปแล้ว 5 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีครูช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ โดยครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 , ชุมชนบ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น โดยครูสุภาณี ภูแล่นกี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 , ชุมชนบ้านดอนยายเหม จ.สุพรรณบุรี โดยครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 , ดาหลาบาติก จ.กระบี่ โดยครูธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 และชุมชนศรียะลาบาติก จ.ยะลา โดยครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 ซึ่งได้มีการขยายการผลิตไปยังชาวบ้านในชุมชนได้ออกแบบและตัดเย็บหน้ากากผ้าทางเลือก สร้างรายได้ในช่วงโควิด-19
ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดงมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ โดยครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 เป็นผู้นำชาวบ้านกลุ่มนี้ มีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ โดยขณะนี้มีชาวบ้านร่วมในโครงการจำนวนกว่า 500 ราย ในกว่า 200 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำที่บ้านของตนเองโดยไม่มีการรวมกลุ่ม ความพิเศษของหน้ากากผ้าของชุมชนนี้ คือ การนำผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของหน้ากาก ร่วมด้วยการออกแบบตัดเย็บกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย นำมาผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ นำมาซักทำความสะอาดอย่างดีเพื่อตัดเย็บเป็นหน้ากาก 2 ชั้น มีช่องสำหรับใส่ Filter เพิ่มได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก สวมใส่สบาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และที่สำคัญเป็นหน้ากากผ้าที่ทำด้วยหัวใจของชาวบ้านทุกคน
ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง SACICT เตรียมส่งเสริมให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปาชีพ และหัตถกรรมไทย ได้นำแนวคิดในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านการออกแบบ กระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การใช้เส้นใยธรรมชาติ การใช้วัตถุดิบจากพืช การละเว้นการใช้สารฟอกขาว สารเคมีอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ ดิน และอากาศ ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสีย ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุน และปล่อบก๊าซเรือนกระจก และการเผาผลาญพลังงาน รวมถึงลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
SACICT เชื่อมั่นว่า งานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ จะสร้างจุดขายให้แก่ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจและพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์และค่านิยมของสังคมและประชาคมโลกที่ให้คุณค่าในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและการคืนประโยชน์กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน