“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ไม่ลืมครูช่าง-ทายาทงานศิลปหัตถกรรมไทยมอบ สศท. ผนึกพลังภายในกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าเป็นผู้ที่ สืบสานและรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้คงอยู่และสะท้อนความเป็นไทยมาตั้งแต่อดีต จึงสั่งการให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ซึ่งมีภารกิจในการ สืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย เร่งจัดทำทะเบียนครูช่าง-ทายาทฯ ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน โดยให้ประสานกับกระทรวง ทบวง หรือกรมที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการรวบรวมและจัดทำข้อมูลของครูช่าง-ทายาทฯ ให้มากที่สุด เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้เหมาะสมต่อไป
“สิ่งที่กังวลมาก คือ ปัจจุบันครูช่างมีอายุมากและอาจขาดทายาทผู้สืบสานภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ หนึ่งในสาเหตุนั้นคือ มูลค่างานศิลปหัตถกรรมไทยบางประเภทไม่สูงพอที่จะยังชีพในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ นอกจากนี้ อาจจะมีพ่อคนกลางมาซื้อไปสร้างกำไรต่อที่ปลายทางของการตลาด ทั้งๆ ที่มูลค่าราคาท้ายสุดน่าจะอยู่กับครูช่าง-ทายาทฯ” รมช.พาณิชย์กล่าว
รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ มาหารือเรื่องการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ สถาบันอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ดูแลเรื่องรูปแบบบรรจุภัณฑ์รวมถึงการนำอัญมณีมาเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่ากับงานศิลปหัตถกรรมบางประเภทให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาด และให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งหาตลาดทั้งในและต่างประเทศทุกรูปแบบทุกแพลตฟอร์ม โดยให้ประสานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ไม่เพียงจะมีกำลังใจและรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว เราจะได้ ผู้สืบสานกลับมาร่วมรักษางานศิลปหัตกรรมไทยของบรรพบุรุษ และเป็นการสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป เราจะไม่ทิ้งครูช่างไว้ข้างหลัง นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวในที่สุด
สำหรับสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า สศท. พร้อมรับนโยบาย “เราจะไม่ทิ้งครูช่างไว้ข้างหลัง” โดยที่ผ่านมา สศท. ได้ดำเนินกิจกรรมเชิดชูเกียรติบุคคลเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีครู-ทายาทฯ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูแล้วรวมทั้งสิ้น 413 ราย โดยแบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 103 ราย ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 230 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 80 ราย โดย สศท. ได้ดำเนินการรวบรวมชีวประวัติ ผลงานและองค์ความรู้ในการทำงานศิลปหัตถกรรมของผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติเพื่อรักษาข้อมูลองค์ความรู้ในงานหัตถกรรมแต่ละประเภท โดยเฉพาะในงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายให้คงอยู่ ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ซึ่งต่อจากนี้ สศท. จะเร่งส่งเสริมศักยภาพโดยการความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด รวมถึงการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป