การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

ใบสมัครครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565

ขอเชิญ บุคคล

เสนอชื่อเข้ารับการพิจารณา – คัดสรร เพื่อเชิดชูเป็น

 

“ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”

ประจำปี พ.ศ. 2565

 

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม

คุณค่าบุคคลผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรมไทย อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในประเภทงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำอยู่น้อยราย ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา รวมทั้งส่งต่อความรู้สู่ลูกหลาน และคนรุ่นหลังให้ได้เห็นคุณค่า ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสาน พัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การดำรงรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าและสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ต่อไป เพื่อเชิดชูเกียรติเป็น  “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” หรือ “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” หรือ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”  ประจำปี พ.ศ. 2565   

 

ประเภทงานศิลปหัตถกรรม

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ดำเนินกิจกรรมเชิดชูเกียรติผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมไทย ในประเภทที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมใน 9 สาขา  ประกอบด้วย 1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน  3. เครื่องดิน  4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน (** อ้างอิงจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13 เรื่องหัตถกรรมพื้นบ้าน โดย นายมาโนช กงกะนันท์) และทั้งนี้ หากประเภทงานที่ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทเครื่องใดๆ ใน 9 เครื่องดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจน จะจัดอยู่ในประเภท เครื่องอื่นๆ

 

  • คุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดสรรเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม  

                   คุณสมบัติเบื้องต้นของบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาเสนอเข้าสู่กระบวนการคัดสรรเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม”  “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี พ.ศ. 2565 ดังนี้

ครูศิลป์ของแผ่นดิน
  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี (นับถึงวันที่เข้าสู่กระบวนการคัดสรร)
  2. เป็นผู้อนุรักษ์ สืบทอด การทำงานศิลปหัตถกรรมและรักษาคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิม ทั้งในศาสตร์ และศิลป์เชิงช่างที่สั่งสมสืบทอดต่อกันมา โดยเฉพาะประเภทงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำอยู่น้อยราย
  1. เป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการทำงานศิลปหัตถกรรมประเภทนั้นๆ ที่สะท้อนถึงทักษะฝีมือ หรือเทคนิคเชิงช่างขั้นสูง 
  1. เป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทงานนั้นด้วยตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

          (หากในกรณีบุคคลผู้เข้ารับการคัดสรรเป็นบุคคลผู้สูงอายุ หรือมีสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองในปัจจุบัน ก็จะต้องยังคงเป็นผู้ทำการถ่ายทอดความรู้เชิงทักษะให้แก่ผู้รับการถ่ายทอดอยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รับรู้ได้อย่างชัดแจ้ง) 

  1. เป็นผู้ที่แสดงออกได้ถึงจิตวิญญาณของการเป็นครู เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ทุ่มเททำการถ่ายทอด อบรมสั่งสอนให้ความรู้แก่ผู้รับการถ่ายทอด เช่น ลูกหลาน เครือญาติ ชุมชน เยาวชน เครือข่าย และบุคคลที่สนใจ เป็นต้น โดยการถ่ายทอดในโอกาสและช่องทางต่างๆ ที่เป็นที่รับรู้ได้อย่างชัดแจ้ง
  1. เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากชุมชน เครือข่าย หรือหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดย มีหลักฐานอ้างอิงจาก รางวัล หรือประกาศเกียรติคุณยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ 
  1. เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม และจริยธรรม เป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นแบบอย่างที่ดีของอนุชนรุ่นหลัง
  2. มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสร้างคุณประโยชน์ และเข้าร่วมกิจกรรมกับ สศท. และพร้อมร่วมสนับสนุนบทบาทของ สศท. ให้เป็นที่รู้จักในชุมชน หรือหน่วยงานเครือข่ายของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ 
ครูช่างศิลปหัตถกรรม
  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  2. เป็นผู้มีความรู้ ทักษะฝีมือในการทำงานศิลปหัตถกรรมประเภทนั้นๆ เป็นอย่างดี และมีการพัฒนาฝีมือการทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
  1. เป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทงานนั้นด้วยทักษะฝีมือตัวเองและยังทำอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 ปี
  1. เป็นผู้ที่มีการดำเนินงานด้านการถ่ายทอด อบรมสั่งสอนให้ความรู้แก่ผู้รับการถ่ายทอด เช่น ลูกหลาน เครือญาติ ชุมชน เยาวชน เครือข่าย บุคคลที่สนใจ ในโอกาสและช่องทางต่างๆ ที่เป็นที่รับรู้ได้อย่างชัดแจ้ง
  1. เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากชุมชน เครือข่าย และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ว่าเป็นผู้ที่รักษาฝีมือเชิงช่าง มีจิตวิญญาณในความเป็นช่างฝีมือ โดยมีหลักฐานจากรางวัล หรือได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ เป็นหลักฐานอ้างอิง
  1. เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ยอมรับนับถือ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลัง
  2. มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสร้างคุณประโยชน์ และเข้าร่วมกิจกรรมกับ สศท. ในวาระโอกาสต่างๆ และพร้อมร่วมสนับสนุนบทบาทของ สศท. ให้เป็นที่รู้จักในชุมชน หรือหน่วยงานเครือข่ายของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ 
ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม
  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  2. เป็นทายาทสายตรงจากผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจาก สศท. (ครูศิลป์ของแผ่นดิน หรือ ครูช่างศิลปหัตถกรรม) หรือ เป็นศิษย์ที่ได้รับการสั่งสอน ถ่ายทอดจากครูอาจารย์ หรือช่างฝีมือผู้อยู่ในวงการงานหัตถกรรมในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการรับรองความรู้ ความสามารถจากครู อาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้
  1. เป็นผู้ที่ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทงานนั้นได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง และยังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่ น้อยกว่า 3 ปี และมีความมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปในฐานะผู้สืบทอดหรือสืบสาน  
  1. เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบสานดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ หรือที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูอาจารย์ หรือช่างฝีมือผู้อยู่ในวงการงานหัตถกรรม
  1. เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น และใฝ่เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สืบสานทำงานศิลปหัตถกรรมตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เป็นที่ยอมรับสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลัง
  1. เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาต่อยอดผลงานโดยเชื่อมโยงกับ ภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วย แนวคิดใหม่ หรือการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ 
  1. มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสร้างคุณประโยชน์ และเข้าร่วมกิจกรรมกับ สศท. ในวาระโอกาสต่างๆ และพร้อม ร่วมสนับสนุนบทบาทของ สศท. ในช่องทางสื่อสาธารณะต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักในชุมชน หรือ หน่วยงานเครือข่ายของ  ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ

การดำเนินการ

  1. ผู้เสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดสรร กรอกข้อมูลในแบบเสนอชื่อและผลงาน พร้อมรายละเอียดข้อมูลอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ทั้งในรูปแบบเอกสาร พร้อมภาพประกอบผลงาน หรือ อาจบันทึกวีดิโอสั้นตามแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณา
  1. การพิจารณาคัดสรรเพื่อการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ดำเนินการโดย คณะกรรมการคัดสรรฯ ที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย แต่งตั้ง โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง  ทั้งนี้ผลการพิจารณาและคัดสรรของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด
  1. สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย จะแจ้งผลผู้ที่ได้รับการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2565 เป็นลายลักษณ์อักษร
  1. ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดสรรและเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2565 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย จะดำเนินกิจกรรมเพื่อการเชิดชูเกียรติ เช่น การมอบโล่และเกียรติบัตร การจัดนิทรรศการเผยแพร่เกียรติประวัติและผลงาน การประชาสัมพันธ์องค์ประกอบบุคคลผู้ได้รับการเชิดชู ทักษะฝีมือ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่โดดเด่น ในช่องทางต่างๆ ภายใต้กิจกรรมต่างๆ ตามที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กำหนด

 

ส่งเอกสารกลับมา .... ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

 

ติดต่อสอบถามข้อมูล และส่งเอกสารผู้เข้ารับการคัดสรร ได้ที่ :

 นายปิยเทพ เทพพิชัยยานนท์ หรือ  นายรังสิมันต์  โกศลศิษฐ์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศิลปหัตถกรรมและสมาชิก สำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์

 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)

59 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290

 โทรศัพท์ 035-367054 ต่อ 1338  / 1353   โทรสาร  035-367051

E-mail :  piyathep.t@sacit.or.th / rungsimun.k@sacit.or.th