การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

สินิตย์ ดัน “เส้นใยกัญชง” เป็นวัตถุดิบผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย

“สินิตย์” ผลักดันพืชกัญชง เผยประโยชน์จากเส้นใยที่มีคุณภาพใช้ในงาน สิ่งทอ ลดอุณหภูมิ ใส่ไม่ร้อน ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับประเทศไทย มีความเหนียว ทนทาน พร้อมส่งไม้ต่อ sacit ต่อยอด สร้างสรรค์เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทย เพิ่มมูลค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “กัญชง”
เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีประโยชน์และถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในงานศิลปหัตถกรรมไทย ประเภทงานทอผ้ามาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะในกลุ่มชาวม้งที่ใช้ภูมิปัญญา ทักษะฝือ และวัตถุดิบที่เป็นเส้นใยจากกัญชงมาถักทอเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเส้นใยจากกัญชงมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว คือ ใส่สบาย ไม่ร้อน ระบายอากาศได้ดี และยังมีความเหนียวทนทานเมื่อเทียบกับเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ยิ่งในช่วงของการปลดล็อคพืชกัญชงออกจากยาเสพติด ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ก็จะยิ่งช่วยให้การปลูกต้นกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึงด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถดำเนินงานได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะนอกจากการนำมาถักทอเป็นผืนผ้าที่ได้เป็นเส้นใยจากธรรมชาติ 100% แล้ว กระบวนการปลูกก็เป็นวิถีชาวบ้านที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยกัญชง เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลกอีกด้วย


โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนผู้ประกอบการด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทร่วมกับภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตชิ้นงานให้มีคุณภาพ มีความประณีต สวยงาม และที่สำคัญคือสอดรับกับความต้องการของตลาดและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ Green Product หรือ นำเอาเทรนด์แฟชั่นมาใส่ในชิ้นงาน เป็นต้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง ซึ่งในอดีตจะมีการทอใช้งานกันในรูปแบบดั้งเดิม เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบัน sacit ก็ได้มีการพัฒนาชิ้นงานเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่น หมวก กระเป๋า ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถนำมาประดับตกแต่งให้มีความทันสมัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใยกัญชงได้ เป็นการช่วยยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมจากใยกัญชงได้เป็นอย่างดี รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย


ด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแต่ละ
ท้องถิ่นได้มีการหันมาปลูกต้นกัญชงเพื่อใช้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยครูธัญพร  ถนอมวรกุล ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2564 ผู้สืบทอดภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ผ้าเขียนเทียนใยกัญชง โดยเริ่มตั้งแต่นำต้นกัญชงมาลอกเส้นใยและผ่านกรรมวิธีเฉพาะจนกลายเป็นผืนผ้า นำมาย้อมสีธรรมชาติ และบรรจงเขียนลวดลายลงบนผืนผ้าด้วยเทียนตามแบบฉบับชาวม้ง ก่อนนำมาตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่นมากมาย รวมถึง ครูนวลศรี พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ก็เป็นอีกหนึ่งท่านที่บุกเบิกนำต้นกัญชงมาใช้ประโยชน์ โดยแปรรูปให้เป็นเส้นใย ก่อนนำมาถักทอเป็นสินค้าเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า และของใช้อื่นๆ ที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบชิ้นงานให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน