“สินิตย์” ตอกย้ำความนิยมงานฝีมือคนไทยเพิ่มขึ้น ดันยอดขายงานหัตถศิลป์ไทยส่งท้ายปีขาล มากกว่า 507 ล้านบาท
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยที่ออกมาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น รวมถึงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ความต้องการซื้องานหัตถกรรมไทยเพื่อเป็นของขวัญ ของฝาก และของที่ระลึกเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับ Gift Economy ซึ่งของที่ระลึกจากงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นงาน ที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยมือทุกขั้นตอน มีความละเอียดประณีต สะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยที่สามารถนำไปใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการลงพื้นที่ไปพัฒนาศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย และการนำนวัตกรรมเข้าไปสนับสนุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้เพิ่มช่องทางและขยายโอกาสด้านการขายงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างรายได้กลับสู่ชาวบ้าน ชุมชน และผู้ประกอบการ ผ่านการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การจัดงานแสดงสินค้า , การสร้างแพลตฟอร์ม E-Commerce จำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยในโลกออนไลน์ , การขยายช่องทางจุดจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมไทยไปยังสถานที่ต่างๆ อาทิ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และภูเก็ต , ศูนย์การค้าชั้นนำของไทย และเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ส่งผลให้ในปี 2565 สามารถสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย มากถึง 507,407,547.19 บาท ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านงานศิลปหัตถกรรมของประเทศ เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชน ชาวบ้าน กลุ่มผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมในทั่วประเทศอย่างแท้จริง งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบโดนใจวัยรุ่น มีคุณภาพและฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันจึงขอขอบคุณคนไทยและชาวต่างชาติที่ให้การตอบรับและสนับสนุนงานฝีมือของคนไทยเสมอมา รมช.พาณิชย์ กล่าว
ด้านนายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า ในปี 2566 sacit ได้มีการวางแผนการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย , การพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น , การเพิ่มช่องทางการขายให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจัดงานใหญ่แห่งปี Craft Festival , Craft Bangkok 2023 , อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 , และการนำงานฝ้ายทอใจที่มีแฟนคลับติดตามจำนวนมากกลับมาจัดอีกครั้ง รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะสามารถสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ได้มากถึง 550 ล้านบาท เป็นการกระจายรายได้สู่กลุ่มชาวบ้าน ชุมชนผู้ผลิตงานหัตถกรรมให้เกิดรายได้อยู่ดีกินดี ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ตลอดจนเกิดการอนุรักษ์ สืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป