การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

พิธีลงนาม MOU ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 2

               sacit ลงนาม MOU ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยมี รมช.พณ. นภินทร ประธานร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 กับ  นายนัมเกล ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงาน ประธานร่วมฝ่ายภูฏาน เป็นสักขีพยานในระหว่างการประชุม JTC ครั้งที่ 5

 

           สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 5 (ระดับรัฐมนตรี) และการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 1 รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 14 - 17 พฤษภาคม 2567 (รวมวันเดินทาง) ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน ตามคำเชิญจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักเอเชียแอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีประเด็นหารือที่เกี่ยวข้องกับสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) และการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ตามระเบียบวาระความคืบหน้าผลการประชุม JTC ไทย-ภูฎาน ครั้งที่ 4 สาขาเศรษฐกิจความร่วมมือด้านหัตถกรรม โดยกำหนดการ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม

 

          นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนไทยเยือนภูฏานตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 5 และการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 1 โดยภูฏานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทิมพู ภูฏาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นายนำเยล ดอร์จิ) เป็นประธานร่วมการประชุม

 

            การเดินทางครั้งนี้ สศท. มีวัตถุประสงค์ตกลงความเข้าใจด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยและราชอาณาจักรภูฎาน ผ่านความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ตามกำหนดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (SACIT) กับกรมการสื่อสาร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาภูฏาน (DoMCIIP)  เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมระหว่างกัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามพันธกิจหลักของ สศท. ผ่านความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ เพื่อความยั่งยืน 3 ประการ ได้แก่ ความยั่งยืนด้านศิลปหัตถกรรม ความยั่งยืนด้านรายได้ในกระบวนการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

 

           ผู้บริหาร สศท. เข้าร่วมประชุม 3 คน ประกอบด้วย

  1. นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการ
  2. นางญาณิดา ปานเกษม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกลาง และรักษาการผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์
  3. นางสาวรดาธร เรืองแสงอร่าม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาความร่วมมือวิเทศสัมพันธ์และบริหารความเสี่ยง

     

            สรุปประเด็นการประชุม ด้านงานศิลปหัตถกรรม : ทั้งสองประเทศเห็นพ้องและยินดีกับการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านความยั่งยืนของงานศิลปหัตถกรรมและงานฝีมือ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมงานฝีมือของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างศักยภาพ และสร้างเป้าหมายการพัฒนาเพื่อส่งเสริมงานฝีมือของทั้งสองฝ่าย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ เป็นระยะเวลา 5 ปี

 

            การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่ออายุจากฉบับแรก โดย รมช.พณ. ได้กล่าวในเวทีการประชุมว่า การต่ออายุครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองประเทศร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในสาขาด้านงานศิลปหัตถรรม  สนับสนุนระหว่างกันโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ของไทย ได้ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมร่วมกับ กรมการสื่อสาร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา หรือ DoMSIIP ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะช่วยให้ไทยและภูฏาน ส่งเสริมงานฝีมือของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายจะกำหนดแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างศักยภาพ และสร้างเป้าหมายการพัฒนาเพื่อส่งเสริมงานฝีมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ และด้านการพาณิชย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน ของทั้งสองฝ่าย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ เป็นระยะเวลา 5 ปี

 

 

 

โดย สำนักยุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์

ฝ่ายพัฒนาความร่วมมือวิเทศสัมพันธ์และบริหารความเสี่ยง

 

ลิงค์ข่าวประชาสัมพันธ์ กระทรวงพาณิชย์
https://www.thansettakij.com/business/economy/596223

https://www.thailandplus.tv/archives/824270