การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

“ภูมิธรรม”มอบ สศท. เดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งระบบ พร้อมขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างความยั่งยืน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบาย การขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ชูงานศิลปหัตถกรรมคือ Soft Power ที่เป็นกลไกหนึ่ง  ในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ เน้นย้ำให้ สศท.เดินหน้า “สืบสาน รักษา พัฒนา ต่อยอด”งานศิลปหัตถกรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ในงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า ควบคู่การบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมเป็น Soft Power ของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ สศท.คือการรวบรวมองค์ความรู้และฐานข้อมูลเกี่ยวกับ ครูศิลป์  ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาติ ที่จะต้องสืบสาน รักษา และต่อยอดให้คงอยู่ ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า สศท.คือ Big Data ด้านองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมที่มีการรวบรวมอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนมากที่ควรค่าแก่การส่งต่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานของ สศท. จึงมุ่งให้มีการเดินหน้าต่อใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย สืบสาน รักษา และพัฒนาต่อยอด รวมถึงผลักดันให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญได้แก่

การสืบสานงานหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ประเด็นสำคัญของงานศิลปหัตถกรรมคือ คนทำงานอยู่ได้ มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ส่งผลให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่พร้อมจะสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่างในงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งในส่วนนี้นอกจากการยกย่อง เชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมแล้ว จำเป็นที่ สศท.ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมควบคู่ไปด้วยกัน โดยการทำให้เห็นว่าเป็นผลงานระดับ World Class ที่มีความหลากหลายและเป็นที่รู้จักทั่วโลก

การรักษางานหัตถกรรมไทยให้ยั่งยืน ซึ่งข้อนี้นับว่าเป็นจุดแข็งของ สศท. เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ของครูช่างสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศที่ทรงคุณค่าสืบทอดต่อกันมา จึงทำให้ สศท.เป็นแหล่งของข้อมูลด้านงานศิลปหัตถกรรมที่มีความพร้อมและมีความสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ   กับการเผยแพร่และสื่อสารให้ง่ายต่อการเข้าถึงและการรับรู้ของผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อจุดประกายความคิดนำเอาภูมิปัญญาของครูช่าง ไปพัฒนาต่อยอดผสมผสานคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีซึ่งจะผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด โดยเล็งเห็นว่า สศท. สามารถทำหน้าที่เป็น Craft Center ของประเทศ เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้ เป็น Academy ให้กับผู้ที่สนใจงานศิลปหัตถกรรมได้ศึกษาจริงจัง หรือ อาจเป็น Craft Clinic สำหรับผู้ที่อยากมองหาที่ปรึกษาในด้านงานหัตถศิลป์ อาทิ ด้านกระบวนการผลิต ด้านการนำเทคนิคมาประยุกต์ทำในชิ้นงาน หรือการต่อยอดทักษะการทำงานหัตถกรรม ฯลฯ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ สศท. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐแห่งเดียวที่รับผิดชอบในเรื่องของงานหัตถกรรมของประเทศแบบองค์รวม

การพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นกระบวนการที่ต้องใช้การเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งการที่เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีแต้มต่อที่จะส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าศิลปหัตถกรรมไทยแบรนด์ SACIT  มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน อาทิ การจดทะเบียนการค้า การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อการส่งออก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการผลักดันให้มรดกทางภูมิปัญญามีการปรับประยุกต์ให้มีความร่วมสมัย และสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การทำงานแบบบูรณาการ เป็นส่วนสุดท้ายที่เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยควรให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงฯ หรือเครือข่ายพันธมิตร  เพื่อช่วยกันผลักดัน สะท้อนมุมมอง มิติใหม่ ๆ ของการสร้างโอกาสในเชิงคุณภาพด้านการพัฒนาศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย กลุ่มสมาชิก สศท. นักออกแบบ เป็นต้น รวมทั้ง ในเชิงมูลค่า ที่ต้องมีการชี้ช่องทางของการเพิ่มมูลค่างานที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างคมชัด ควบคู่การดึงคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมีการต่อยอดมูลค่าของงาน ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นอีกจุดเด่นของการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศสู่สาธารณชนในวงกว้างได้เป็นอย่างดี