การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

ผู้อำนวยการ สศท. พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมการบริหารการจัดการตลาดนัดศิลปหัตถกรรมของทางภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งรวบรวมของช่างฝีมือและผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมของไทย

วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ผู้อำนวยการ สศท. พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมการบริหารการจัดการตลาดนัดศิลปหัตถกรรมของทางภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งรวบรวมของช่างฝีมือและผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมของไทย เพื่อนำปรับประยุกต์ใช้ การจัดการด้านตลาดงานศิลปหัตถกรรม ดังนี้


1. สังกะดี สเปช (sanggadee space) ตั้งอยู่ ณ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นของ "สังกะดี” เริ่มที่แม่แจ่ม ด้วยอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ ทำงานด้านผ้าทอและส่งเสริมคนทอผ้าในชุมชน รวมทั้งเครือข่ายผู้ทำงานผ้าที่หลากหลาย ซึ่งต่อมาก็มีคนที่ชื่นชอบผ้าแวะเวียนมาเที่ยวที่แม่แจ่มกันอยู่เนือง ๆ จึงเปิดบ้านให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมให้ผู้สนใจงานคราฟต์ ได้เชื่อมโยงกับคนในชุมชน ทั้งในมุมมองด้านงานคราฟต์และศิลปวัฒนธรรม อันเป็นวิถีชีวิตของชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มาจำหน่าย มีความหลากหลาย และมีเอกลักษณ์ของตน อาทิ งานเครื่องเคลือบศิลาดล , งานเครื่องเงินล้านนา จากชุมชนกะเหรี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดลำพูน เป็นต้น รวมถึงการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายกลุ่มผู้เปราะบาง ด้วยการทำงานศิลปหัตถกรรม ประเภทผ้าปัก ให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองได้ อีกทั้งยังมี กิจกรรม workshop งานหัตถกรรมหลายหลายประเภทให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมทุกเพศ ทุกวัยได้สร้างประสบการณ์ใหม่เรียนรู้จากช่างฝีมืออีกด้วย

สังกะดี สเปซ มีความเป็นธรรมชาติและมีพืชยืนต้นที่เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติสำหรับย้อมสีได้หลายชนิด เช่น ทองกวาว ต้นสัก เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญทางวัตถุดิบที่เป็นต้นทางของการทำงานผ้า และย้อมสีธรรมชาติ ต่อมาได้ปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบให้สีธรรมชาติได้ เช่น มะเกลือ คำแสด ห้อม คราม ประดู่ ขมิ้น กล้วย รวมไปถึงปลูกฝ้ายหลายชนิด ในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่คนที่เข้ามาเยี่ยมชม จะได้เห็น ได้รู้จัก ได้ศึกษา เรื่องเหล่านี้ไปในตัว

 

2. ชุมชนโหล่งฮิมคาว เป็นแหล่งชุมชนงานคราฟต์ ในอำเภอสันกำแพง กิจกรรมและสถานที่เหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนที่เรียกขานตัวเองว่า โหล่งฮิมคาว เป็นย่านหัตถกรรมสร้างสรรค์ เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนฝูงศิลปินและเจ้าของแบรนด์หัตถกรรมต่าง ๆ อาทิ แบรนด์แม่ทีตา ของครูช่าง สศท. ฯ ที่มีความชื่นชอบในงานหัตถกรรม ธรรมชาติ ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา เมื่อรักในสิ่งเดียวกันแล้ว พวกเขาจึงตัดสินใจลงขันซื้อที่ดินร่วมกัน แบ่งสรรปันพื้นที่ของตัวเองเพื่อสร้างเรือนล้านนาเป็นบ้านอยู่อาศัย เป็นหน้าร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ และอยู่รวมกันฉันครอบครัว ซึ่งในปีนี้ จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “กิ๋นคราฟ์ Nice Food Good Crafts” ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ แฟชั่นโชว์ของชุมชนถนนวัฒนธรรมโหล่งฮิมคาว การนำเสนอภูมิปัญญาการทำอาหารล้านนาของชุมชน การเสวนา งานผ้า ร้านหัตถกรรม และการแสดงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

 

3. โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เกิดจากความร่วมมือของพ่อครู แม่ครู กลุ่มสล่าล้านนาที่มีมุ่งรักษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เพื่อทําการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา ให้กับลูกหลานและผู้สนใจในท้องถิ่น นําเสนอกระบวนการสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ รูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสาน ภูมิปัญญาในอดีต จึงเป็นสิ่งมีคุณค่าและความหมาย ที่สำคัญเป็น มรดกทางวัฒนธรรม อันควรแก่การสืบสานสู่รุ่นต่อรุ่น

 

รายงานโดย สำนักพัฒนาศักยภาพ ฝ่ายสืบสานคุณค่าครูศิลปหัตถกรรม