การพัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ ในกระบวนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อเป้าหมายให้สมาชิกของ sacit สร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่มีคุณภาพ ตามความต้องการของผู้บริโภคงานหัตถกรรมด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำอยู่มาพัฒนาทักษะของสมาชิกเพื่อต่อยอดองค์ความรู้และเพิ่มมูลค่างานศิลปหัตถกรรม
sacit โดยสำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์ จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะช่าง ด้านการย้อมสีธรรมชาติเส้นตอกไม้ไผ่ให้แก่ผู้ผลิตงานจักสาน โดยครูนิทัศน์ จันทร ครูช่างศิลปหัถกรรม ผู้มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ เป็นวิทยากร ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2567 ณ กลุ่มจักสานไม้ไผ่หุ้มเซรามิค อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โดยมีครูมุด ซื่อสัตย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 และสมาชิกเครือข่าย ได้เข้ารับการพัฒนาทักษะและเพิ่มสมรรถนะเทคนิคการนำวัสดุธรรมชาติในพื้นถิ่นมาใช้แทนสีเคมี และการเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณธรรมชาติที่ให้สีสำหรับการย้อมเส้นตอก การเตรียมน้ำย้อม ส่วนที่ใช้ในการสกัดที่ให้สี สารกระตุ้นช่วยติดสี และเทคนิคการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติที่ให้สีติดแน่นสม่ำเสมอ เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้และพัฒนาต่อยอดในการสร้างสรรค์งานจักสานไม้ไผ่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าชิ้นงาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ และความงดงามของงานหัตถกรรม ตามกระแสรักษ์โลกของผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าให้คงอยู่
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกกลุ่มจักสานไม้ไผ่หุ้มเซรามิค จำนวน 31 คน การจัดกิจกรรมมีทั้งให้ความรู้ในภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติย้อมเส้นตอกขนาด 1 ซม. และเส้นตอกละเอียด โดยพืชพรรณธรรมชาติในพื้นถิ่นที่ให้สี 🌿☘️ นำมาสกัดเป็นน้ำย้อม ได้แก่
คราม - ให้สีฟ้า สีน้ำเงิน
เมล็ดคำแสด – สีส้ม / เหลืองส้ม
ใบยูคาลิปตัส - สีน้ำตาลอ่อน
เปลือกนนทรี - สีน้ำตาล
เปลือกมะพูด - สีเหลืองอ่อน
เปลือกมะขาม - สีชมพูอมแดง
รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารกระตุ้นช่วยให้ติดสี และเปลี่ยนสีให้ได้เฉดสีที่แตกต่างกัน เช่น น้ำด่างจากขี้เถ้า สารส้ม สนิมเหล็ก เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะ และองค์ความรู้การย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้และทักษะที่ได้รับการฝึกฝนไปปรับเปลี่ยนวิธีการย้อมสีเส้นตอกด้วยสีเคมี ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้สีเส้นตอกด้วยทักษะและเทคนิคภูมิปัญญาในการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนา การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่า มีความร่วมสมัยและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน