ผู้อำนวยการ สศท. พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าพบหารือกับผู้อำนวยการ ศูนย์อุตสาหกรรม ภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางความร่วมการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ผู้อำนวยการ สศท. พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าพบหารือกับผู้อำนวยการ ศูนย์อุตสาหกรรม ภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางความร่วมการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะงานเครื่องรัก เครื่องเขินล้านนา ซึ่งสถานการณ์งานเครื่องรัก เครื่องเขินในปัจจุบัน โดยสรุป ดังนี้
• วัตุดิบ ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะ “ยางรัก” ที่ปัจจุบันช่างฝีมือทั้งในกรุงเทพ และทางจังหวัดเชียงใหม่ ต้องสั่งซื้อยางรักจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ในการทำงานเนื่องจากยางรักในไทยเริ่มขาดแคลน และมีราคาสูง ประเด็นสำคัญยิ่ง คือ “กฎหมาย” ที่กำหนดให้ต้นยางรัก เป็นไม้หวงห้าม ส่งผลให้ต้นยางรักที่ขึ้นในป่าและตามที่ดินของประชาชนทั่วไป เป็นไม้ที่ไม่สามารถครอบครองได้ จึงเกิดการลักลอบ ตัดทิ้ง และเผาทำลายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครอง รวมทั้งไม่มีการปลูกเพิ่ม ทำให้ขาดแคลนต้นรัก ที่เปรียบเสมือนโรงงานผลิตยางรักตามธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบในการผลิตงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งในอดีตประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก ยางรัก ที่มีคุณภาพ ไปยังประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี กว่า 1,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันไทย ต้องสั่งซื้อ ยางรัก จากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ประสบปัญหาด้านคุณภาพ แต่ละรอบการสั่งซื้อคุณภาพจะไม่เหมือนกันมีสิ่งเจือปน ต้องนำมากรองให้สะอาดก่อนการนำไปใช้งาน ทำให้ต้นทุนการผลิตงานยิ่งสูงขึ้นไปอีก
• ช่างฝีมือ พ่อครู แม่ครู มีอายุมากแล้ว ประกอบคนรุ่นใหม่ ลูกหลานครูไม่ได้สืบทอดองค์ความรู้ ทักษะต่อจากบรรพบุรุษ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งอาจเกิดอาการแพ้ยางรัก ต่าง ๆเหล่านี้ส่งผลให้ขาดแคลนช่างฝีมือในประเภทงานเครื่องเขิน
• วิถีชีวิต / เทคโนโลยีการผลิต เนื่องจากงานเครื่องเขิน ค่อย ๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ความเชื่อ ประเพณีต่าง ๆ ในอดีตที่เคยมีนั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้คนในปัจจุบันมิได้ใช้งานเครื่องเขิน ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบันมากขึ้น
แนวคิดความร่วมมือระหว่าง สศท. กับ ศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องเขิน ให้เกิดความยั่งยืน โดยสรุป ดังนี้
• แนวทางการปลูกต้นยางรักทดแทนในประเทศไทย โดยประสานกรมป่าไม้ เพื่อหารือถึงแนวทางการปลดล็อคข้อกฎหมาย ให้สามารถปลูกต้นยางรัก ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ หรือในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และประชาชนสามารถครอบครองได้
• อนุรักษ์สืบสานงานดั้งเดิมไว้ให้คงอยู่ เพื่อรักษาภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ที่มาอย่างแท้จริง
• สร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดงานเครื่องเขิน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่เรียนด้านศิลปกรรม เช่น โรงเรียนเพาะช่าง มาเรียนรู้ในงานเครื่องเขินกับพ่อครู แม่ครู เพื่อทดแทนช่างฝีมือ ที่นับวันจะเหลือผู้ทำน้อยราย
• เชื่อมโยงกับเครือข่ายหน่วยงานและพ่อครู แม่ครู ช่างฝีมือในพื้นที่ เพื่อสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมในเชิงปฏิบัติ ต่อยอดการผลิต และและพัฒนาสร้างผลงานที่ให้สามารถเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันได้
รายงานโดย สำนักพัฒนาศักยภาพ ฝ่ายสืบสานคุณค่าครูศิลปหัตถกรรรม